วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

การได้มาซึ่งสัญชาติไทย

                                     การได้มาซึ่งสัญชาติไทย มีด้วยกัน 3 วิธี คือ
   1. โดยการเกิด หมายความว่า ผู้ที่เกิดมาย่อมได้รับสัญชาติไทยภายใต้หลักการพิจารณา 2 หลักการ ได้แก่
    1.1. หลักสืบสายโลหิต เช่น ผู้ที่เกิดโดยบิดา หรือมารดาเป็นคนไทยย่อมได้สัญชาติไทย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร
    1.2. หลักดินแดน เช่น ผู้ที่เกิดในประเทศไทยย่อมได้รับสัญชาติไทย เว้นแต่ผู้ที่เกิดในประเทศไทยโดยบิดา หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและในขณะที่เกิดบิดา หรือมาดาของผู้นั้นเป็น
       1.2.1. ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยกรณีพิเศษเฉพาะราย
       1.2.2. ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว
       1.2.3. ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
       1.2.4. หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต
       1.2.5. หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล
       1.2.6. พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ
       1.2.7. คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน 1.2.4 ถึง 1.2.7
2. โดยการขอมีสัญชาติไทยตามผู้เป็นสามี คือ หญิงซึ่งมิใช่คนไทยที่สมรสกับชายไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทยก็สามารถยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีมหาดไทยเพื่อขอมีสัญชาติไทย การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยนั้นอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีมหาดไทย
3. โดยการแปลงสัญชาติ หมายความว่า บุคคลที่มิใช่ผู้มีสัญชาติไทยขอมีสัญชาติไทยโดยการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ถ้าหากมีคุณสมบัติครบถ้วนดังนี้
  3.1. บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ
  3.2. มีความประพฤติดี
  3.3. มีอาชีพเป็นหลักฐาน
  3.4. มีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
  3.5. มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีมหาดไทย เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรก็ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ปฎิญาณตนว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย

                     การเสียสัญชาติไทย มีด้วยกัน 2 วิธี คือ
1. สละสัญชาติไทย คือ การที่ผู้มีสัญชาติไทยคนใดคนหนึ่งมีความประสงค์จะขอสละสัญชาติไทยในกรณีดังต่อไปนี้
1.1. หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของสามีได้จามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทยก็สามารถยื่นความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
1.2. ผู้เกิดมามีสองสัญชาติเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หากประสงค์จะสละสัญชาติไทยก็สามารถแสดงความจำนงสละสัญชาติไทยต่อรัฐมนตรีมหาดไทยได้ ในกรณีนี้รัฐมนตรีอาจสั่งระงับการสละสัญชาติไทยไว้ก่อนก็ได้หากว่าประเทศไทยอยู่ในระหว่างการรบหรืออยู่ในสถานะสงคราม
1.3. ผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลง หากประสงค์จะสละสัญชาติไทยก็สามารถยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีมหาดไทย การอนุญาตหรือไม่อนุญาตอยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี
2. ถูกถอนสัญชาติไทย คือ ผู้มีสัญชาติไทยถูกถอนสัญชาติไทยในกรณีดังต่อไปนี้
2.1. หญิงที่ได้สัญชาติไทยโดยการสมรสอาจถูกถอนสัญชาติไทยถ้าหากว่า
2.1.1. การสมรสนั้นเป็นไปโดยปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงความเท็จอันเป็นสาระสำคัญ
2.1.2. กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ
2.1.3. กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน
2.2. ผู้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวอาจถูกถอนสัญชาติไทยถ้าหากว่า
2.2.1. ไปอยู่ต่างประเทศที่บิดาเคยมีหรือเคยมีสัญชาติเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 5 ปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ
2.2.2. มีหลักฐานแสดงว่าใช้สัญชาติของบิดาหรือสัญชาติอื่น หรือฝักใฝ่อยู่ในสัญชาติของบิดาหรือสัญชาติอื่น
2.2.3. กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ
2.2.4. กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน
2.3. ผู้ที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติถ้าหากว่า
2.3.1. การแปลงสัญชาตินั้นเป็นไปโดยปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อความเป็นเท็จอันเป็นสาระสำคัญ
2.3.2. มีหลักฐานแสดงว่าผู้แปลงสัญชาตินั้นยังใช้สัญชาติเดิม
2.3.3. กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ
2.3.4. กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน
2.3.5. ไปอยู่ต่างประเทศโดยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยเป็นเวลาเกิน 5 ปี
2.3.6. ยังคงมีสัญชาติของประเทศที่ทำสงครามกับประเทศไทย

                           การกลับคืนสัญชาติไทย มีด้วยกัน 2 กรณี คือ
1. หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สละสัญชาติไทยในกรณีสมรสกับคนต่างด้าว ถ้าขาดจากการสมรสแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ย่อมมีสิทธิขอกลับคืนสัญชาติไทยได้
2. ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้เสียสัญชาติไทยตามบิดาหรือมารดาในขณะที่ตนยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็สามารถยื่นคำขอกลับคืนสัญชาติไทยได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ การอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามกรณีนี้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีมหาดไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น